สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

การควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างบ้าน ให้ได้คุณภาพ

การควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างบ้าน ให้ได้คุณภาพ

ในการทำงานทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม ผลสำเร็จของงานที่ต้องการก็คืองานที่มีคุณภาพ ในเรื่องของงานก่อสร้างผลลัพธ์ที่ควรต้องได้และต้องมี นอกจากเรื่องของความสวยงามแล้ว ยังมีเรื่องที่มองไม่เห็นเมื่องานเสร็จก็คือเรื่องของความแข็งแรง และประสิทธิภาพของการใช้งานด้วย

ดังนั้นการควบคุมคุณภาพของงานก่อสร้างจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งโครงการที่คำนึงถึงภาพลักษณ์จะมีการควบคุมคุณภาพตามขั้นตอนของการทำงาน แต่ที่ควรกังวลคือการสร้างบ้านด้วยการหาผู้รับเหมามาทำงาน เพราะถ้าเป็นผู้รับเหมาที่คำนึงแต่เรื่องผลประโยชน์สูงสุดก็อาจจะเกิดการหมกเม็ดขึ้นได้ ท่านเจ้าของบ้านก็อาจจะจำเป็นต้องหาผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์มาทำหน้าที่เป็นตัวแทนเพื่อควบคุมการทำงาน แต่ถ้าหากไม่ได้มีการจัดหาผู้ควบคุมงาน ท่านเจ้าของบ้านก็ต้องเข้าไปดูแลเอง หรือต้องเลือกผู้รับเหมาที่ไว้ใจได้ให้เป็นผู้ทำงานให้

การตรวจสอบคุณภาพของงานนั้นเรื่องที่สำคัญที่สุดคือการเลือกวัสดุที่นำมาใช้ โดยขอเขียนถึงคือเหล็กที่ใช้ในการทำโครงสร้าง ซึ่งอันดับแรกที่ขอแนะนำคือให้ท่านดูแบบก่อสร้าง และอ่านข้อกำหนดของการก่อสร้างว่ากำหนดให้ใช้เหล็กชนิดใดเป็นเหล็กเสริม

ปัจจุบันสำหรับงานก่อสร้างทั่วไป วิศวกรโครงสร้างมักจะกำหนดให้ใช้เหล็กข้ออ้อยที่รับแรงดึงได้ 3,000 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร (3,000 Ksc) หรือจะเขียนในแบบก่อสร้างว่าให้ใช้เหล็ก SD-30 ซึ่งเป็นเหล็กที่มีขายทั่วไปตามร้านขายวัสดุก่อสร้าง

เนื่องจากว่าในความเป็นจริงแล้วเหล็กที่กำหนดในแบบก่อสร้างนั้น สำหรับประเทศไทย (อาจจะเป็น Thailand Only) ได้มีการผลิตเหล็กที่ไม่ได้ขนาดมาตรฐานจำหน่ายอยู่ทั่วไป เรียกกันว่าเป็นเหล็กไม่ได้ มอก. เหล็กเบาบ้าง หรือเหล็กไม่เต็มบ้าง หมายความว่าเป็นเหล็กที่มีขนาดพื้นที่หน้าตัดน้อยกว่ามาตรฐานกำหนด เช่น มาตรฐากำหนดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับ 20 มิลลิเมตร แต่จะมีเหล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 18 มิลลิเมตร ซึ่งทำให้มีน้ำหนักเบากว่าเหล็กมาตรฐาน จึงเรียกกันว่าเหล็กเบาหรือเหล็กไม่เต็ม และนอกจากขนาดจะไม่ได้แล้ว คุณสมบัติการรับแรงดึงของเหล็กชนิดดังกล่าวก็มักจะไม่ได้มาตรฐานเช่นกัน ผู้รับเหมาที่ไม่มีคุณภาพก็จะสั่งเหล็กชนิดนี้มาใช้งาน

ส่วนหล็กอีกประเภทที่เรียกว่าเหล็กรูปพรรณซึ่งมักจะใช้ทำโครงหลังคา ตามร้านค้าวัสดุก่อสร้างก็จะมีขนาดบางกว่ามาตรฐาน ตัวอย่างเช่น มาตรฐานต้องมีความหนา 2.3 มิลลิเมตร แต่ที่วางขายจะมีความหนาเพียง 1.8-2 มิลลิเมตรเท่านั้น หากนำมาใช้เป็นโครงหลังคาก็อาจจะทำให้เมื่อมุงกระเบื้องไปแล้วเกิดการแอ่นตัวได้ และที่เป็นเรื่องที่ประหลาดไปกว่านั้นคือว่าร้านค้าส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจะขายแต่เหล็กที่ไม่ได้ขนาดทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าต้องการเหล็กที่ได้มาตรฐานก็อาจจะไม่มีจำหน่าย! แต่ใช่ว่าจะหาไม่ได้ เพราะร้านค้าใหญ่ๆ ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายวัสดุก่อสร้างก็จะมีเหล็กที่ได้มาตรฐานจำหน่ายอยู่ครับ

ฉบับนี้ต้องการเน้นย้ำเรื่องการเลือกใช้วัสดุสำหรับทำงานก่อสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องหลักในการควบคุณคุณภาพ เพราะถ้าใช้วัสดุที่คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน งานที่สำเร็จได้มาก็จะมีข้อบกพร่องอยู่ในตัวซึ่งอาจจะไม่ส่งผลในทันที แต่หากการใช้งานเกิดวิกฤติขึ้นใดเมื่อนั้นก็จะแสดงผลออกมา ดังนั้นการควบคุมคุณภาพงานก่อสร้าง หัวใจคือการควบคุมคุณภาพของวัสดุครับ

ที่มา : บ้านพร้อมอยู่ ฉบับเดือน พฤศจิกายน 2556

Tags : ก่อสร้าง

view